วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

พระกรุ วัดท่าเรือ

 

ซุ้มชินราช ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ 


เป็นหนึ่งในพระชุดไตรภาคี พระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองนครศรี ธรรมราช สมัยเมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว ที่กล่าวขวัญกันในวงการนักเลงพระยุคนั้นว่า "ท่าเรือ นางตรา นาสนธิ์" คือ พระพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่ กรุวัดท่าเรือ พระพิมพ์นาค ปรกใหญ่ กรุวัดนางตรา และพระพิมพ์ใบพุทราหรือพิมพ์ยอดขุนพล กรุวัดนาสนธิ์ ณ ปัจจุบันยังคงเป็นที่นิยมสูงและเสาะแสวงหากันอยู่ แต่ค่อนข้างหาดูได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก


วัดท่าเรือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนาฏศิลป์ เมืองนครศรีธรรมราช แต่จากหลักฐานในหนังสือใบลานผูก เขียนแบบสมุดข่อย ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นโดยบัณฑิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรี อยุธยา ระบุว่าวัดท่าเรือ หรือวัดท่าโพธิ์ นี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช โดยพระองค์ทรงสถาปนาวัดท่าเรือร่วมกับพระภิกษุชาวลังกา เพื่อประดิษ ฐานวิหารพระเจดีย์ รวมทั้งสร้างพระพิมพ์ ขนาดต่างๆ ขึ้น เพื่อฉลองสมโภชพระมหาเจดีย์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.1773
นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่อาราธนาติดตัว โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลที่จะให้ชนรุ่นหลังผู้ทำหน้าที่รักษาบ้านเมือง ได้นำติดตัวออกไปป้องกันภัยเมื่อยามจำเป็น จึงทรงผูกลายแทงไว้คู่กับวัดท่าเรือ ...
ต่อมาทวดศักดิ์สิทธิ์ วัดศาลามีชัย ได้แก้ลายแทงขุมทรัพย์วัดท่าเรือให้เจ้าพระยานคร (น้อย) และให้ทหารขุดเอาพระกรุท่าเรือไปป้องกันตัวในสงครามปราบกบฏเมืองไทรบุรี-กลันตันเป็นครั้งแรก ในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 พระกรุวัดท่าเรือได้แสดงปาฏิหาริย์สามารถประกาศชัยชนะสยบศัตรูได้อย่างราบคาบ เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้รับความดีความชอบเลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย) องค์สุดท้ายของประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช
หลังจากนั้นได้อาราธนาพระกรุท่าเรือติดตัวในการทำสงครามอีกหลายต่อหลายครั้ง อาทิ สงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ.2484 เหล่าศัตรูเกรงขามในความคงกระพันชาตรีของทหารเมืองนครศรีฯ เป็นอย่างมาก แต่ในสมัยก่อนนั้น เมื่อเสร็จสิ้นสงครามแต่ละครั้งเหล่าทหารก็จะนำพระกลับไปคืนเก็บไว้ที่วัดดังเดิม โดยใส่ไหใส่ตุ่มฝังไว้บ้าง โยนไว้แถวเจดีย์ ใต้ต้นไม้ หรือบริเวณลานวัดบ้าง ด้วยยังเชื่อถือกันเคร่งครัดว่าพระต้องอยู่วัดเท่านั้น
กาลเวลาผ่านพ้นไป วัดท่าเรือได้แปรสภาพเป็นวัดที่รกร้างมาเป็นเวลายาวนาน ศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ ปรักหักพังเสื่อมโทรม องค์พระที่ทับถมอยู่ตามบริเวณต่างๆ ภายในวัด จนเมื่อกรมศิลปากรทำการปรับที่ดิน เพื่อสร้างวิทยาลัยนาฏศิลป์ประมาณปี พ.ศ.2519 ได้ขุดพบซากพระอุโบสถและอื่นๆ ตามที่ระบุในใบลานทุกอย่าง รวมทั้ง พระกรุวัดท่าเรือ เมื่อพุทธคุณเป็นที่ปรากฏก็ยิ่งเป็นที่สนใจแสวงหากันเพิ่มยิ่งขึ้น สนนราคาก็ขึ้นสูงตาม
พระกรุวัดท่าเรือที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดิน มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด มีแร่กรวดทรายผสมอยู่ค่อนข้างมาก ที่เป็นพระเนื้อชินมีเป็นส่วนน้อยมาก ลักษณะพุทธศิลปะเป็นแบบอยุธยาตอนต้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์เล็ก, พิมพ์วงเขน, พิมพ์ตรีกาย และพระปิดตา เป็นต้น



       แต่ที่นับว่าเป็น "พิมพ์นิยม" ได้รับการยอมรับและจัดให้เป็นพระอันดับหนึ่งในพระชุดไตรภาคี คือ "พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่" หรือ "พระซุ้มชินราช พิมพ์ใหญ่" ลักษณะองค์พระตัดกรอบแบบสี่เหลี่ยม พุทธลักษณะงดงามสง่า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ บนฐานบัวสองชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบซุ้มชินราช มีปรกโพธิ์ปกคลุมเหนือซุ้ม บางครั้งจึงเรียกว่า "พระซุ้มชินราช" ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น